Child & Kids

Change English Language

เลี้ยงลูกด้วยรัก

ความรักความผูกพันระหว่างคุณแม่และลูกน้อยเป็นพื้นฐานสำคัญที่สุด ในการเลี้ยงดูลูก การสร้างความสัมพันธ์ เกิดความผูกพันทางอารมณ์ เป็นการรับส่งต่อความรู้สึกซึ่งกันและกัน

เลี้ยงลูกด้วยรัก เพื่อสร้างความสัมพันธ์กับลูกน้อยตั้งแต่แรกเกิด

การมีสายสัมพันธ์ที่อบอุ่นระหว่างลูกน้อยวัยทารกกับผู้เลี้ยงดู ไม่ว่าจะเป็นคุณแม่ คุณพ่อ คุณย่า คุณยาย เป็นปฏิสัมพันธ์ทางสังคมแรกที่เกิดขึ้น จะเกิดเป็นความผูกพันซึ่งกันและกัน ดังนั้นการพัฒนาหรือส่งเสริมความสัมพันธ์ดังกล่าวกับเจ้าตัวน้อยก็เริมจากจุดนี้ นั่นคือการดูแลเอาใจใส่ด้วยความรัก ความอบอุ่นเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี ทำให้ลูกน้อยรู้สึกเชื่อถือไว้วางใจต่อครอบครัว โดยกิจกรรมที่คุณแม่สามารถทำกับลูกน้อย คือ

จุ๊บ สัมผัส อุ้ม กอด และพูดคุยกับลูกบ่อย ๆ

ทารกวัยนี้รับรู้ด้านการสัมผัสได้มากที่สุด คุณแม่คุณพ่อควรโอบกอดอุ้มลูกอย่างใกล้ชิดบ่อย ๆ สัมผัสลูกโดยการจับ ลูบไล้ อุ้มแล้วโยกตัวเบา ๆ เมื่อลูกดูดนมให้พูดคุยกับลูกโดยตรงให้ใบหน้าห่างกันไม่เกินหนึ่งฟุต (เนื่องจากทารกแรกเกิดยังมีระยะการมองเห็นสั้น) ซึ่งเป็นระยะจากแม่ถึงหน้าลูกขณะให้นม เรียกชื่อ พูดคุยกับลูกอย่างอ่อนโยนหรือพูดคุยด้วยในเสียงที่เบา ๆ ไพเราะ คุณพ่อเองถึงไม่ได้เป็นคนให้ลูกดูดนม แต่มีบทบาทไม่แพ้กันในการอุ้มลูก เช่น หยอกล้อ กล่อมนอน ลูกจะตอบสนอง โดยสนใจ มองหน้า สบตา หันหาเสียง

ตอบสนองต่อความต้องการของลูกอย่างทันที

คุณแม่คุณพ่อ ต้องหัดสังเกตสีหน้าท่าทางและเสียงร้องของลูกที่แตกต่างกันไป เวลาที่ต้องการสิ่งต่าง ๆ เช่น เวลาหิว เวลาง่วงนอน เวลาอยากให้อุ้มโอบกอด และควรตอบสนองต่อความต้องการของลูกอย่างสม่ำเสมอ รวดเร็ว และเหมาะสม เช่น อุ้มกอดปลอบโยนเมื่อลูกร้องโยเย ยิ้มตอบเมื่อลูกยิ้มให้ การตอบสนองต่อการแสดงออกทางอารมณ์และความต้องการของลูกวัยนี้อย่างทันทีทำให้เด็กรู้สึก "ปลอดภัย" และพัฒนาความผูกพันเกิดขึ้น

อ่านหนังสือให้ลูกฟัง

คุณแม่คุณพ่ออุ้มลูกนั่งตักแล้วอ่านหนังสือให้ลูกฟัง เลือกหนังสือที่ทันสมัย ทำจากผ้าหรือกระดาษแข็งหนา ไม่มีมุมแหลมคม มีรูปภาพใหญ่สีสันสดใส ไม่มีรายละเอียดมากเกินไป อ่านหนังสือด้วยเสียงสูง ๆ ต่ำ ๆ ลูกจะสนใจเสียงและภาษาที่มีจังหวะ ชี้ชวนเล่าเรื่องจากรูปภาพในหนังสือ การที่ลูกได้เห็นรูปภาพต่าง ๆ ในหนังสือ จะช่วยให้ลูกได้เชื่อมโยงภาพกับภาษาพูดผ่านการเล่าเรื่องดังนั้น หากเด็กมีประสบการณ์ที่ดีในช่วงเวลานี้ จะเป็นพื้นฐานในการสร้างนิสัยรักการอ่าน ของเขาในอนาคต

เริ่มปลูกฝังวินัยผ่านกิจวัตรประจำวันเมื่อลูกวัยใกล้หนึ่งขวบ

คุณแม่คุณพ่อผู้เลี้ยงดูควรเริ่มการฝึกวินัยผ่านทางกิจวัตรประจำวัน เช่น การกิน การนอน ให้เป็นเวลาสม่ำเสมอ โดยกำหนดมื้ออาหารที่สม่ำเสมอให้กับลูก โดยเตรียมอาหารที่สะอาด มีคุณค่า เหมาะกับวัย ลูกของเราจะเป็นคนกำหนดปริมาณมื้ออาหารในแต่ละมื้อตามความต้องการของตนเอง ไม่ควรบังคับให้กินจนหมด ตามที่ผู้ใหญ่กำหนด มีปฏิสัมพันธ์ พูดคุยกับลูกระหว่างการป้อนอาหารลูก และฝึกให้ลูกเข้านอนเป็นเวลาทั้งกลางวันและกลางคืน วัยนี้ลูกจะนอนได้ยาวขึ้นในเวลากลางคืน ควรค่อย ๆ วางลูกลงบนที่นอนของลูกเอง เพื่อให้ลูกหลีบเองได้ ซึ่งจะทำให้ลูกสามารถหลับด้วยตัวเองได้เมื่อตื่นขึ้นมาในตอนกลางคืน การมีกิจวัตรประจำวันที่สม่ำเสมอ ทุกวัน ลูกสามารถคาดการณ์ได้ว่าจะต้องทำสิ่งใดต่อ จะช่วยส่งเสริมให้ลูกรู้สึกมั่นคงปลอดภัยขึ้น ซึ่งเป็นพื้นฐานของทักษะทางสังคมที่ดีต่อไป

เล่นกับลูกเมื่ออารมณ์ดี

คุณแม่คุณพ่อผู้เลี้ยงดูควรสังเกตอารมณ์ของลูกน้อย เล่นกับลูกเมื่อลูกพร้อม เมื่อลูกอารมณ์แจ่มใส ให้ลูกพักเมื่อเหนื่อยหรือหงุดหงิด เมื่อลูกหงุดหงิด ปลอบโยนด้วยการอุ้ม โยกตัวเบา ๆ ลูบตัวลูก โดยใช้เสียงและใบหน้าใจดีนุ่มนวล

มีการศึกษาจากต่างประเทศว่าการประสบความสำเร็จในชีวิตมาจาก IQ เพียง 15% เท่านั้น แต่มาจากปัจจัยด้านบุคลิกภาพ การปฏิบัติต่อผู้อื่น การมีมนุษยสัมพันธ์นั่นคือ SQ ถึง 85% จึงอธิบายได้ว่าบางคนสติปัญญาดี แต่ไม่ประสบความสำเร็จในการทำงานเพราะอาจปรับตัวเข้ากับสังคมและคนอื่นไม่ได้ การเลี้ยงลูกด้วยรัก การให้และรับสัมผัส การสื่อสารต่าง ๆ ของคุณแม่คุณพ่อและลูกน้อย ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ความผูกพันที่มั่นคง เป็นรากฐานของความปลอดภัย และความมั่นใจ นั่นคือการ "เติบโตด้วยรัก" ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่ช่วยให้เด็กพัฒนาความเป็นตัวของตัวเอง ความสามารถในการควบคุมอารมณ์ การพัฒนาทักษะด้านสังคม บ ุคลิกภาพและการมีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่นเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ดังนั้นการเลี้ยงลูกด้วยรัก จึงมีความสำคัญมาก และเป็นการช่วยส่งเสริมทักษะที่ดีเหล่านี้ให้ลูกรักได้ตั้งแต่เล็ก

ที่มาของข้อมูล : หนังสืออมรินทร์เบบี้แอนด์คิดส์